วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555




สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระราชประวัติ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าปราสาททอง
และ พระนางเจ้าสิริกัลยานี อัคร-ราชเทวีพระราชมารดาเป็น พระราชธิดา
ในสมเด็จพระ-เจ้าทรงธรรม เสด็จพระราช-สมภพ เมื่อ วันจันทร์
เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2175

ครองราชย์
การครองราชย์ราชวงศ์ปราสาททองทรงราชย์ พ.ศ.2199- พ.ศ. 2231 
 ระยะเวลาครองราชย์32 ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 27
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลายรัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
รัชกาลถัดมาสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เสด็จสวรรคต พ.ศ. 2231
 
พระราชกรณียกิจ
 
ด้านการทหาร
 
ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงปราบปรามเมืองน้อยใหญ่
ให้เป็นมาสวามิภักดิ์ ทั้งหัวเมืองทางเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน
ส่วนศึกกับพม่าแม้จะมีอยู่ในเวลานี้ แต่ก็ทรงจัดทัพตีพ่ายกลับไปอยู่เนืองๆ
กิจการของกองทัพนับว่ารุ่งเรืองและยิ่งใหญ่สมเด็จพระนารายณ์
เองก็ทรงชำนาญในการศึก คล้องช้าง และทรงซื้ออาวุธจากต่างชาติ
สำหรับกิจการของกองทัพด้วย
 
การต่างประเทศ
 
มีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น
อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักร
เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังโปรดฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี
กับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน
ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาและสยามมากที่สุด
ในสมัยนี้ก็คือ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์
 
วิทยาการสมัยใหม่
 
พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว
 และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ
จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย
 
ด้านวรรณกรรม
 
สมเด็จพระนารายณ์นับว่าเป็นทั้งนักรบและกวี
ทรงพระ-ราชนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเรื่อง เช่น
*โคลงพุทธไสยาสน์ป่าโมก
*โคลงพาลีสอนน้อง
*โคลงทศรถสอนพระราม
*ราชสวัสดิ์
*ราชาณุวรรต
*ประดิษฐ์พระร่วง
*สมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนกลาง)
*คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า) เป็นต้น

พระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์
 ในระหว่างปีพุทธศักราช 2228-2230รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
คณะ-บาทหลวงเจชูอิตชาวฝรั่งเศส ได้มาเผยแพร่ดาราศาสตร์
ในประเทศไทย มีสิ่งก่อสร้าง เช่น หอดูดาววัดสันเปาโล
เป็นหอดูดาวแห่งแรกในประเทศไทย
       นอกจากนี้ในวันที่ 30 เมษายน พุทธศักราช 2231
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง
ที่พาดผ่านแม่น้ำกฤษณะในประเทศอินเดีย พม่า จีน ไซบีเรีย
ไปสิ้นสุดในทวีปอเมริกา สำหรับประเทศไทยเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกล้องทอดพระเนตร
จันทรุปราคาเต็มดวงใน คืนวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2228
ร่วมกับคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ณ พระตำหนักทะเลชุบศร เมืองลพบุรี
 








พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
 พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2098 - 25 เมษายพ.ศ. 2148) พระนามเดิมว่า พระองค์ดำ โอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา และ พระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก ทรงมีพระเชษฐภคิณีคือพระสุพรรณกัลยาทรงมีพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ(องค์ขาว) และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศวรราชาธิราช จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนามนเรศวรได้มาจากที่ใด สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจากสมเด็จพระนเรศวรราชาธิราชเป็นสมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช  
พระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์กับชีวิตและการศึกษาในหงสาวดี
      ตลอดระยะเวลาในวัยเยาว์ของพระนเรศวรทรงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลกยอมอ่อนน้อมต่อแห่งหงสาวดี และทำให้พิษณุโลกต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชหงสาวดีไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองได้ทรงขอพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนม์มายุเพียง 9 พรรษานอกจากพระองค์แล้วยังมีองค์ประกันจากเมืองอื่น ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีเป็นจำนวนมาก พระเจ้าบุเรงนองนั้นทรงให้เหล่าองค์ประกันได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดี พระนเรศวรทรงใช้เวลา ๘ ปีเต็มในหงสาวดีศึกษายุทธศาสตร์ของพม่า พระองค์ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษา ทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาวต่างชาติต่าง ๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี เช่น ชาวโปรตุเกส สเปน หรือชาวพม่าเอง ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมในการทำศึกได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ ยุทธวิธีที่ทรงใช้ ได้แก่ การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีการรบแบบกองโจร พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป นอกจากนั้น หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ ความเด็ดขาดในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด เนื่องจากการที่พระองค์มีชีวิตอยู่ในฐานะองค์ประกันทำให้ทรงมีความกดดันสูงจากมังกะยอชวา (พระราชโอรสในพระเจ้านันทบุเรง) จึงทรงมีแรงผลักดันที่จะกอบกู้อิสรภาพให้กับบ้านเมืองของพระองค์ เช่น จากการชนไก่ของพระองค์กับมังกะยอชวา เป็นต้น รวมทั้งการเหยียดหยามว่าเป็นเชลย จากพวกพม่าด้วย

ทรงประกาศอิสรภาพ
      วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวรฯเดินทัพมาถึงเมืองแครง ด้วยบุญญาธิการทรงปฏิบัติตนเป็นที่เคารพรักของชาวมอญ จึงมีพรรคพวกคนมอญมาก แม้กระทั่งพระมหาเถรคันฉ่องก็ได้นมัสการท่านอยู่ประจำจนชอบพอคุ้นเคย และเมื่อบังเอิญเกิดความวุ่นวายทางเมืองพม่า พวกมอญที่เกลียดและประสงค์จะเป็นอิสระจากพม่าอยู่แล้วรวมทั้งพระยาเกียรติ พระยารามจึงจำเป็นต้องพึ่งพากองทัพไทยสมเด็จพระนเรศวรฯได้พักทัพตั้งพลับพลาอยู่ใกล้วัดพระมหาเถรคันฉ่อง เมื่อเสด็จไปนมัสการ มหาเถรคันฉ่อง จึงได้ทรงทราบว่าพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงคิดกำจัดพระองค์ จึงรับสั่งให้ประชุมแม่ทัพนายกองรวมทั้งชาวมอญ ทั้งหลายในเมืองแครงด้วย และเข้าใจกันว่าโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่องมานั่งเป็นประธานในพิธีด้วย
สมเด็จพระนเรศวรฯทรงหลั่งน้ำจากสุวรรณภิงคารลงเหนือแผ่นดิน ประกาศแก่เทพยดาต่อหน้าที่ประชุมว่า
 
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปกรุงศรีอยุธยาขาดพระราชไมตรีกับกรุงหงสาวดี
มิได้  เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนสืบไป "
  ในปีที่ทรงประกาศอิสรภาพ สมเด็จพระนเรศวรฯทรงมีพระชนมายุได้ 29 พรรษาหลังจาก ประกาศอิสรภาพ แล้วจากนั้นจึงยกกองทัพหลวงจากเมืองแครงไปตีเมืองหงสาวดี 

สงครามยุทธ์หัตถี
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากหงสาวดี และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใดในอดีตที่ผ่านมา ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการทำสงคราม
     
การสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปีคือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ. 2135 นั่นคือเมื่อหงสาวดีนำโดยพระมหาอุปราชามังสามเกียดยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรก็นำทัพออกไปจนปะทะกันที่หนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี บ้างก็ว่าจังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนกระทั่งสามารถเอาพระแสงง้าวฟันพระมหา-อุปราชาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้างนั่นเอง
  
พระราชกรณียกิจ
พ.ศ. 2113 เสด็จออกร่วมรบกับทหารโดยขับไล่กองทัพเขมรได้สำเร็จ
พ.ศ. 2114 ได้รับสถาปนาให้ปกครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา
พ.ศ. 2117 เสด็จไปรบที่เวียงจันทน์ เผอิญทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษจึงเสด็จกลับ
พ.ศ. 2121 ทรงทำสงครามขับไล่พระยาจีนจันตุออกไปจากกรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. 2127 ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และกวาดต้อนคนไทยกลับพระนคร
พ.ศ. 2127-พ.ศ. 2130 พม่ายกกองทัพมาตีไทยถึง 4 ครั้ง แต่ถูกไทยตีแตกพ่ายกลับไป
พ.ศ. 2133 ทรงเสด็จครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา
พ.ศ. 2135 ทรงทำสงครามยุทธหัตถี และมังกะยอชะวา สิ้นพระชนม์
พ.ศ. 2136 ทรงยกกองทัพไปตีเขมรและจับพระยาละแวกทำพิธีปฐมกรรม
พ.ศ. 2138 และ พ.ศ. 2141 ทรงกรีฑาทัพไปตีกรุงหงสาวดี ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
พ.ศ.2148 ทรงกรีฑาทัพไปตีกรุงอังวะ เมื่อไปถึงเมืองหางหรือเมืองห้างหลวงทรงพระประชวร เป็นหัวระลอกขึ้นที่พระพักตร์ เสด็จสวรรคต ณ ทุ่งแก้ว เมืองห้างหลวง ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง พระชนมายุ 50 พรรษา ครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี
สวรรคต
      พ.ศ. 2137 พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็ให้พระเจ้าแปรมาตีกรุงศรีอยุธยาแต่ก็แตกทัพกลับไป พ.ศ. 2142 เสด็จออกไปตีกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีหนีไปเมืองตองอู กองทัพอยุธยาตามไปถึงเมืองตองอูแต่ขาดเสบียง พ.ศ. 2147 ยกกองทัพไปกรุงหงสาวดีอีกครั้งถึงเมืองหาง (ในพงศาวดารบางฉบับว่าเมืองห้างหลวง) อันเป็นเมืองอยู่ชายพระราชอาณาเขตในสมัยนั้น เมื่อปลายเดือน 5 ปีมะเส็ง พ.ศ. 21480ได้เสด็จประทับแรมอยู่ ณ ตำบลทุ่งแก้ว เกิดประชวรเป็นหัวระลอกขึ้น (บ้างว่าถูกตัวสัตว์พวกแมลงมีพิษต่อย) ที่พระพักตร์แล้วเลยเป็นบาดพิษจนเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ พ.ศ. 2148 เรื่องวันสวรรคตนี้มีรายละเอียดกล่าวต่างกัน

  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับวัฒนธรรมในปัจจุบัน
1. ตราประจำจังหวัดของไทยที่มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดหนองบัวลำภู
2.มีการสร้างพระบรมราชานุสรณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในหลายแห่งทั่วประเทศ เช่น พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ริมหนองบัวลำภู ในจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้น 
3.มีการนำพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปตั้งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนเรศวรและค่ายทหารต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ค่ายนเรศวร ที่จังหวัดลพบุรี ค่ายนเรศวรมหาราช ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนทางกรมตำรวจได้นำพระนามของพระองค์มาตั้งเป็นชื่อค่ายตำรวจตระเวนชายแดนที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีว่า "ค่ายนเรศวร"้ ด้วยเช่นกัน
4.ชาวไทยนิยมนำหุ่นรูปไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาวไปบนบานกับพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะเชื่อกันว่าเป็นไก่พันธุ์เดียวกับตัวที่เอาชนะไก่ชนของพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดีได้
5.มีการนำพระราชประวัติของพระองค์ไปเขียนเป็นหนังสือการ์ตูนอยู่หลายครั้ง เช่น มหากาพย์กู้แผ่นดิน ผลงานของมนตรี คุ้มเรือน เป็นต้น





พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท)

พระราชประวัติ 
              พญาลิไท หรือ พระยาลิไท หรือ พระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรม-ราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชา   ทรงเป็นพระราชโอรสของพระยาเลอไทและพระราชนัดดา(หลานปู่) ของพ่อขุนรามคำแหง  ครองราชย์  พ.ศ. ๑๘๙๐ แต่ไม่ทราบปีสิ้นสุดรัชสมัยที่แน่นอน สันนิษฐานว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๖๖  พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงเป็นแบบฉบับของกษัตริย์ในคติธรรมราชา ทรงปกครองบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนสุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติพระองค์ชักนำชนทั้งหลายให้พ้นทุกข์  หลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงว่าพระองค์มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี  ได้แก่  วรรณกรรมเรื่อง  ไตรภูมิพระร่วง  วรรณคดีชิ้นแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์หลังจากทรงเป็นรัชทายาทครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ ๘ ปี จึงเสด็จมาครองสุโขทัยเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๐ โดยต้องใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจเพราะที่สุโขทัยหลังสิ้นรัชกาลพ่อขุนงัวนำถมแล้วเกิดการกบฏการสืบราชบัลลังก์ ไม่เป็นไปตามครรลองครองธรรม 
  พระราชกรณียะกิจที่สำคัญ  
   - การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ   เพราะสุโขทัยหลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว     บ้านเมืองแตกแยกแคว้นหลายแคว้นในราชอาณาจักรแยกตัวออกห่างไป ไม่อยู่ในบังคับบัญชาสุโขทัยต่อไป                     
    - พญาลิไททรงคิดจะรวบรวมสุโขทัยให้กลับคืนดังเดิม แต่ก็ทรงทำไม่สำเร็จ นโยบายการปกครองที่ใช้ศาสนาเป็นหลักรวมความเป็นปึกแผ่นจึงเป็นนโยบายหลักในรัชสมัยนี้                      
    - ทรงสร้างเจดีย์ที่นครชุม (เมืองกำแพงเพชร) สร้างพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก
- ทรงออกผนวช เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ การที่ทรงออกผนวช นับว่าทำความมั่นคงให้พุทธศาสนามากขึ้น   ดังกล่าวแล้วว่า หลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว บ้านเมืองแตกแยก วงการสงฆ์เองก็แตกแยก แต่ละสำนักแต่ละเมืองก็ปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เมื่อผู้นำทรงมีศรัทธาแรงกล้าถึงขั้นออกบวช พสกนิกรทั้งหลายก็คล้อยตามหันมาเลื่อมใสตามแบบอย่างพระองค์ กิตติศัพท์ของพระพุทธศาสนาในสุโขทัยจึงเลื่องลือไปไกล พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปได้ออกไปเผยแพร่ธรรมในแคว้นต่างๆ เช่น อโยธยา หลวงพระบาง เมืองน่าน พระเจ้ากือนา แห่งล้านนาไทย  ได้นิมนต์พระสมณะเถระไปจากสุโขทัย เพื่อเผยแพร่ธรรมในเมืองเชียงใหม่   พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพญาลิไท       มีมเหสีชื่อพระนางศรีธรรม ทรงมีโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อมา  คือ  พระมหาธรรมราชาที่สอง     ปีสวรรคตของกษัตริย์  พระองค์นี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คงอยู่ในระยะเวลาระหว่างปีพ.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๗



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
       สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ ๔  กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม  มีพระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร  ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕  ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในพระบรมหมาราชวัง  ในสมัยรัชกาลที่ ๕  ได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  แล้วเลื่อนเป็นกรมหลวง  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระยา  และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗  ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕  ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วนความวิริยะอุตสาหะ  มีความรอบรู้  มีความซื่อสัตย์  และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์   
ผลงานสำคัญมี 3 ด้าน 
การศึกษา
                ใน พ.ศ. ๒๔๒๓  ทรงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก จึงเกี่ยวข้องกับการศึกษามาตั้งแต่นั้น  เนื่องจากมีการตั้งโรงเรียนทหารมหาดเล็กขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนพลเรือน  จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๓  ทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการและกำกับกรมธรรมการ  จึงปรับปรุงงานด้านการศึกษาให้ทันสมัย เช่น กำหนดจุดมุ่งหมายทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ คือ ฝึกคนเพื่อเข้ารับราชการ กำหนดหลักสูตร เวลาเรียนให้เป็นแบบสากล  ทรงนิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้นใช้เพื่อสอนให้อ่านได้ภายใน ๓ เดือน  มีการตรวจคัดเลือกหนังสือเรียน  กำหนดแนวปฏิบัติราชการในกรมธรรมการ  และริเริ่มขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรสามัญชน  เป็นต้น  
  การปกครอง
                  ทรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรกเป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี ติดต่อกันตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๕๘  ทรงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานระบบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในแนวใหม่  โดยยกเลิกการปกครองที่เรียกว่า  ระบบกินเมือง   ซึ่งให้อำนาจเจ้าเมืองมาก มาเป็นการรวมเมืองใกล้เคียงกันตั้งเป็นมณฑล  และส่งข้าหลวงเทศาภิบาลไปปกครองและจ่ายเงินเดือนให้พอเลี้ยงชีพ  ระบบนี้เป็นระบบการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  นอกจากนี้มีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย  เพื่อทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขราษฎร  เช่น  กรมตำรวจ  กรมป่าไม้  กรมพยาบาล  เป็นต้น  ตลอดเวลาที่ทรงดูแลงานมหาดไทย ทรงให้ความสำคัญแก่การตรวจราชการเป็นอย่างมาก เพราะ ต้องการเห็นสภาพเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ดูการทำงานของข้าราชการ และเป็นขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการหัวเมืองด้วย  
งานพระนิพนธ์
                  ทรงนิพนธ์งานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมไว้เป็นจำนวนมาก  ทรงใช้วิธีสมัยใหม่ในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดี  จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ต่อมาเสด็จกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง    ในตำแหน่งเสนาบดีมุรธาธร   และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗  ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี งานสำคัญอื่นๆ ที่ทรงวางรากฐานไว้  ได้แก่  หอสมุดสำหรับพระนคร  และงานด้านพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖  ทรงเป็นต้นราชสกุลดิศกุล  ใน พ.ศ. ๒๕๐๕  ยูเนสโกประกาศยกย่องพระองค์ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติจากสถาบันแห่งนี้ 
  


เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงเสนี)


     เป็นบุตรคนที่ 4 ของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กำเนิดแต่ท่านผู้หญิงฟักเมื่อปีระกา พ.ศ. 2320 อันเป็นปีที่ 10 ในสมัยของ พระเจ้าตากสินมหาราช สถานที่เกิดอยู่ในเขตพระนคร ตอนเชิงสะพานช้างโรงสี หน้า กระทรวงมหาดไทยทุกวันนี้

เมื่อเติบใหญ่เจริญวัยขึ้น เจ้าพระยาอภัยราชา ผู้เป็นบิดาได้นำตัวนายสิงห์เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และได้รับพระราชทานยศศักดิ์ อันเป็นผลมาจากความเพียรในหน้าที่ราชการในขั้นแรกคือ ตำแหน่ง หมื่นเสมอใจราชและพระนายเสมอใจ ต่อมาได้เป็นพระยาเกษตรรักษาว่าการกรมนาฝ่ายพระราชวังบวรในสมัยรัชกาลที่ 2 ภายหลังเมื่อรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์สมบัติจึงโปรดให้เป็นพระยาราชสุภาวดี 

พระยาราชสุภาวดี ได้ทำความดีความชอบไว้มากมายในรัชกาลนี้ เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์คิดการกบฏขึ้นใน พ.ศ. 2369 รัชกาลที่ 3 โปรดให้พระยาราช สุภาวดีเป็นแม่ทัพหน้ายกไปปราบปรามบรรดาพวกกบฏ ท่านได้รบอย่างกล้าหาญจนพวกกบฏมิอาจจะต่อต้านได้ถึงกับถอยร่นไม่เป็นขบวน ในที่สุดทัพของพระยาราชสุภาวดีก็ยกเข้าครองจำปาศักดิ์ได้สำเร็จ ผลแห่งความดีความชอบในครั้งนี้ คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก 

เสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายกใน พ.ศ. 2372 (เวลานั้นท่านอายุได้ 52 ปี) 

ชีวิตของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาดูจะไม่ได้ห่างจากการศึกสงครามไปได้ เพราะอีกไม่กี่ปีต่อมา (พ.ศ. 2376) ญวนเกิดเข้าไปแทรกแซงหาทางจะเอาเขมรเป็นของตน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพขึ้นไปสู้รบกับญวนอีก จนกระทั่งญวนยอมทำไมตรีกับไทยแล้ว และเหตุการณ์ในกัมพูชากลับเป็นปกติตามเดิมเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยใน พ.ศ. 2391 ท่านได้ควบคุมบ้านเมืองในเขมรนานถึง 15 ปีเต็ม 

ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ใช้หลักความเฉียบขาดในการบังคับบัญชา จึงได้ผลคือปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์ นครเวียงจันทน์ และได้ช่วยป้องกันเขมรจากญวนได้สำเร็จตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนำเกียรติคุณมาสู่ทหารไทยและประเทศไทยอย่างมากมาย 

ปีที่กลับจากเขมรมานั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา มีอายุย่าง 71 ปี แต่ก็ยังเข้มแข็งสามารถรับราชการสนองพระเดชพระคุณได้ต่อมาจนกระทั่งถึงวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2392 ก็ถึงอสัญกรรมด้วยอหิวาตกโรคซึ่งระบาดชุกชุมในปีนั้น รุ่งขึ้นปี พ.ศ. 2393 จึงได้พระราชทานเพลิงศพที่วัดสระเกศ 

เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้ทราบว่า เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว องหริรักษ์ระลึกถึงบุญคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ช่วยเหลือปราบปรามหมู่ปัจจามิตรทั้งช่วยจัดราชการเมืองเขมรให้ราบคาบเรียบร้อยตลอดมา จึงสั่งสร้างเก๋งขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่ ใกล้วัดโพธารามในเมืองอุดงมีชัย (เมืองหลวงเก่าเมืองเขมร) แล้วให้พระภิกษุสุกชาวเขมรช่างปั้นฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น ปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นไว้เป็นอนุสาวรีย์ด้วยปูนเพชร และประกอบการกุศลมีสดับปกรณ์เป็นต้นปีละครั้งที่เก๋ง ชาวเขมรเรียกว่า "รูปองบดินทร" ตลอดมาจนบัดนี้ รูปนี้สร้างขึ้นในราวปีจอ พ.ศ. 2392 

จากผลงานและคุณงามความดีที่ปรากฏต่อประเทศชาติ ทำให้อนุชนรุ่นหลังสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเพื่อเคารพสักการะและระลึกถึงพระคุณของท่านหลายแห่ง เช่น เมืองอุดงมีชัย ประเทศกัมพูชา, วัดจักรวรรดิราชาธิวาส (วัดสามปลื้ม) , โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) , โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2,โรงเรียนนวมินทราชินูทิศบดินทรเดชา,โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)4,โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี,โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร, ค่ายบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 อ.มะขาม จ.จันทบุรี, ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) , กองกำกับการตำรวจตระเวรชายแดนที่ 12 อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, ค่ายบดินทรเดชา กรมทหารราบที่ 16 อ.เมือง จ.ยโสธร